5/2/58

กติกาและรูปแบบการเล่นกระบี่กระบอง

   การแต่งกายกีฬากระบี่กระบอง   
เครื่องแต่งกายนั้นขึ้นอยู่กับความนิยม สมัยโบราณแต่งกายอย่างทหารหรือนุ่งโจงกระเบนแบบหยักรั้ง คาดผ้าประเจียด ตะกรุด หรือนุ่งกางเกงขาสั้น แต่ที่สำคัญคือ นักกระบี่กระบองจะต้องสวมมงคลที่ทำด้วยด้ายดิบพันเป็นเกลียว มีขนาดใหญ่เท่าเชือกมนิลา ใช้ผ้าเย็บหุ้มอีกชั้นหนึ่ง ปล่อยปลายทั้งสองยื่นออก


การคิดคะแนน แบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้คือ
   1.ประเภทเครื่องแต่งกาย    (คะแนน)
         - แต่งแบบนักรบไทโบราณสมัยต่าง ๆ
         - แต่งแบบชาวบ้าน ทั้งโบราณและปัจจุบัน เช่น นุ่งกางเกงส่วนนุ่งผ้าโจงกระเบนด้วยผ้าพื้นหรือผ้าลาย ใส่เสื้อคอกลม แขนสั้น หรือแขนทรงกระบอก คาดผ้าตะเบงมาน ใส่ชุดม่อฮ่อม หรือกางเกงยาว เสื้อคอกลมแขนสั้น ผ้าขาวม้าคาดเอว
         - แต่งแบบกีฬานิยม เช่น นุ่งกางเกงขาสั้น หรือขายาว ใส่เสื้อทีมหรือเสื้อธรรมดาแขนสั้นหรือยาว มีผ้าคาดเอวหรือไม่มีก็ได้ รองเท้าผ้าใบ และใส่ถุงเท้า
         การแต่งกายทั้ง 3 ข้อ ข้างต้นต้องแต่งให้เหมือนกันทั้งคู่ นอกจากเรื่องสีแล้ว ต้องดูเรื่องความสะอาด เรียบร้อย รวมทั้งต้องสวมมงคล ทุกครั้งที่ออกแสดง

   2.ประเภทรำ    (10 คะแนน)
         - การถวายบังคม
         - การรำพรหมนั่ง หรือ พรหมยืน
         - ลีลาการรำ กำหนดให้ผู้เข้าแข่งขัน รำเพียงเที่ยวเดียว ไม่ต่ำกว่า 2 ท่า และมีลีลาการรำที่เข้ากับจังหวะดนตรีและสวมบทบาทของการรำ เช่น ท่านาง ท่าลิง ซึ่งมีท่ารำอื่น ๆ อีก 12 ท่า คือ ท่าลอยชาย ท่าทัดหูหรือควงทัดหู ท่าเหน็บข้าง ท่าตั้งศอก ท่าจ้วงหน้าจ้างหลัง ท่าควงป้องหน้า ท่ายักษ์ ท่าสอยดาว ท่าควงแตะ ท่าแหวกม่าน ท่าลดล่อ และท่าเชิงเทียน

   3.ประเภท การเดินแปลง    (คะแนน)
         เมื่อรำจบแล้วนั่งลง ก่อนออกเดินแปลง ผู้เข้าแข่งขันไม่ต้องถวายบังคม เพียงแต่แต่ไหว้น้อมรำลึกถึงครู อาจารย์ครั้งเดียว แล้วเริ่มรำพรหม หรือจะไม่รำก็ได้แล้วออกเดินแปลงเพียงเที่ยวเดียว

   4.ประเภท การต่อสู้   (20 คะแนน)
         การต่อสู้ของแต่ละคู่ จะต้องมีเหตุผลสมจริง และถูกต้องตามหลักวิชาการต่อสู้ป้องกันตัว และไม่เป็นการอนาจาร
กำหนดเวลาการแข่งขันกีฬากระบี่กระบอง
         การแข่งขันตั้งแต่ประเภท 2, 3 และ 4 กำหนดให้ใช้เวลาในการแข่งขันคู่ละ 7 นาที เมื่อนักกีฬาแสดงครบเวลา 6 นาที กรรมการจะกดกริ่งเตือน 1 ครั้ง เมื่อนักกีฬาแสดงต่อไปต่อไปจนครบเวลา 7 นาที กรรมการจะประกาศให้ทราบว่าหมดเวลาแล้ว แต่ถ้านักกีฬาแสดงเกินกำหนดเวลา 7 นาที กรรมการจะตัดคะแนนคู่นั้น 2 คะแนน จากคะแนนรวมในการตัดสิน

   กรรมการผู้ตัดสินกีฬากระบี่กระบอง   
         ให้ใช้กรรมการผู้ตัดสิน โดยผู้ทรงคุณวุฒิคราวละ 5 ท่าน จากสมาคมกีฬาไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีคะแนนตัดสินท่านละ 40 คะแนน
การให้คะแนน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
         - การแต่งกาย 4 คะแนน
         - การรำ 10 คะแนน
         - การเดินแปลง 6 คะแนน
         - การต่อสู้ 20 คะแนน
         รวม 40 คะแนน
         ให้นำคะแนนจากกรรมการผู้ตัดสินทั้ง 5 ท่าน มาตัดสินคะแนนที่ให้สูงที่สุด และตัดคะแนนต่ำที่สุดออก รวมคะแนนที่เหลือแล้วหารด้วย 3 ผลลัพธ์ที่ได้เป็นคะแนนของนักกีฬาคู่นั้นเมื่อเรียงลำดับแล้ว คู่ใดมีคะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ และรองลงมาตามลำดับคะแนน ในกรณีที่มีคะแนนเท่ากัน ให้พิจารณาดังนี้
         1. ให้ดูเฉพาะคะแนนการต่อสู้ ถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ
         2. ถ้าคะแนนการต่อสู้ยังเท่ากันอยู่ ให้ดูคะแนนการรำถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ
         3. ถ้าคะแนนการรำยังเท่ากันอยู่ให้ดูเฉพาะคะแนนการเดินแปลง ถ้าฝ่ายใดมีคะแนนสูงกว่าให้เป็นผู้ชนะ
         4. ถ้าคะแนนยังเท่ากันอีก ให้ครองตำแหน่งร่วมกัน และให้เลื่อนคะแนนรองขึ้นมาเรียงลำดับ 1 หรือ 2 หรือ 3 ต่อไป

   คะแนนรวมของทีม   
         ให้นำผลการแข่งขันของนักกีฬาภายในทีมที่ชนะ ที่ 1-2-3 ในแต่ละชนิดอาวุธมารวมกัน โดยคิดคะแนนดังนี้     
         - ชนะเลิศ ได้ 5 คะแนน
         - รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้ 3 คะแนน
         - รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้ 1 คะแนน

   ทีมใดมีคะแนนรวมมากที่สุด เป็นทีมที่ชนะ  

การเล่นกระบี่กระบองแต่ละครั้งนั้นมีแบบแผนการเล่นที่กำหนดไว้  ดังนี้
   1.การถวายบังคม   
ในสมัยโบราณการแสดงการต่อสู้มักกระทำต่อหน้าที่ประทับ ผู้แสดงจึงต้องมีการถวายบังคมซึ่งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย  และต่อมาได้เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และผู้มีพระคุณ การถวายบังคมนี้จะกระทำ 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีความหมายดังนี้
         ครั้งที่ 1 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา
         ครั้งที่ 2 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขของชาติ
         ครั้งที่ 3 หมายถึง การแสดงความเคารพต่อบิดา มารดา ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการและผู้มีพระคุณ

   2.การขึ้นพรหม    ประกอบด้วย การขึ้นพรหมนั่ง และการขึ้นพรหมยืน
         2.1 การขึ้นพรหมนั่ง ได้แก่ การนั่งร่ายรำแต่ละทิศจนครบ 4 ทิศ แล้วจึงกลับหลังหันลุกขึ้นยืน
         2.2 การขึ้นพรหมยืน เป็นการยืนรำแต่ละทิศจนครบทั้ง 4 ทิศ และจบลงด้วยการเตรียมพร้อมจะปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป
         การขึ้นพรหมนี้ ถ้าฝ่ายหนึ่งขึ้นพรหมนั่งอีกฝ่ายจะขึ้นพรหมยืน นอกจากเป็นการสร้างกำลังใจและคุ้มครองในการต่อสู้แล้ว การขึ้นพรหมนี้ นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้บันทึกไว้ว่า  เป็นการสอนให้ผู้เรียนระลึกถึงธรรมของการอยู่ร่วมกันในสังคม ได้แก่ พรหมวิหารสี่

   3.การรำเพลงอาวุธ    
         ผู้แสดงที่เล่นอาวุธใดจะเลือกรำเพลงตามอาวุธที่ตนใช้  โดยเลือกท่ารำจากท่ารำทั้งหมดในอาวุธนั้นตามความเหมาะสมหรือความชำนาญของผู้เล่นประมาณ 1 ท่า การรำเพลงอาวุธนี้มีมานานแต่สมัยโบราณ และมีประโยชน์ต่อผู้เล่น

   4.การเดินแปลง   
เป็นลักษณะของการเดินที่พร้อมจะเข้าสู่ท่าต่อสู้ การเดินจะเดินไปจนสุดสนามแล้วกลับมาที่เดิมขณะที่อยู่ในระยะใกล้ที่จะสวนกันให้ต่างหลีกไปทางซ้ายเพียงเล็กน้อย โดยอาวุธอาจจะถูกหรือระกันเล็กน้อยได้  การเดินแปลงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายต่างจ้องดูเล่ห์เหลี่ยมของกันและกัน เป็นการอ่านใจกันและคุมเชิงกันในทีก่อนจะเข้าต่อสู้

   5.การต่อสู้   
จะเป็นการใช้ท่าทางการต่อสู้ที่ได้ฝึกมาทั้งหมดในสถานการณ์จริง การต่อสู้นี้จะใช้อาวุธของการต่อสู้ที่เรียกว่า "เครื่องไม้ตี" มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องไม้รำแต่ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงาม

   6.การขอขมา   
เป็นการไหว้กันและกันระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่ายหลังจบการแสดงแต่ละอาวุธ เป็นการขอโทษต่อการแสดงที่ผิดพลั้งต่อกัน เป็นระเบียบที่กำหนดขึ้นในภายหลังจากสมัยท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา


         การแสดงกระบี่กระบองมีธรรมเนียมดีอีกอย่างหนึ่งคือ จะต้องมีดนตรีประกอบซึ่งจะมีปี่ชวา กลองแขกตัวผู้ (เสียงสูง) ตัวเมีย (เสียงต่ำ) และฉิ่งจับจังหวะ เพราะไทยเป็นชาติรักดนตรีการเล่นหรือแสดงเฉย ๆ จะรู้สึกเงียบเหงา ขาดรสชาติหาความสนุกสนานได้ยาก นอกจากดนตรีจะช่วยให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้น แล้วยังช่วยให้ผู้เล่นเกิดความฮึกเหิมมีกำลังใจในการต่อสู้ โดยเฉพาะเสียงกลองจะเป็นเหมือนเสียงหนุนหรือยุให้ผู้เล่นคิดจะสู้เรื่อย ๆ ไปโดยไม่คิดจะถอย มีแต่จะบุกติดตามเข้าไปด้วยความทรหดอดทน อีกประการหนึ่ง ในการแข่งขันต้องมีการรำอาวุธก่อนต่อสู้ ซึ่งถือว่าเป็นการดูเชิงและเป็นการทำให้กล้ามเนื้อตื่นตัวลดความตื่นเต้น ถ้าไม่มีเสียงดนตรีแล้วจะรำได้อย่างไร

28/1/58

ประวัติความเป็นมาของกระบี่กระบอง


            การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทย ที่เรียกว่า กระบี่กระบอง เพราะเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณ มาฝึกซ้อมและเล่นในยามสงบ โดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว ฯลฯ เอาหนังมาทำโล่ เขน ดั้ง ฯลฯ แล้วจัดมาตีต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกันเป็นคู่ ๆ ดุจสู้กันในสนามรบเป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว
  อย่างไรก็ตาม ประวัติเริ่มต้นของการเล่นกระบี่กระบองที่แท้จริงนั้นไม่ทราบได้แน่ชัดว่า เริ่มกันมาตั้งแต่ครั้งไหน และใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น เพราะไม่สามารถค้นคว้าจากแหล่งใดได้ แต่เนื่องด้วยไทยเราเป็นชาตินักรบมาแต่โบราณ กระบี่กระบองซึ่งเป็นกีฬาของนักรบจึงน่าจะได้มีการเล่นกันมาเป็นเวลาช้านานควบคู่กับชนชาติไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่พออ้างอิงได้คือ วรรณคดี ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา กล่าวถึงอิเหนาชำนาญในการกระบี่ ในรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงศรีสุวรรณเล่าเรื่องกระบี่กระบองกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานกระบี่กระบองเป็นพิเศษ ถึงกับโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงหัดกระบี่กระบองจนครบวง และและโปรดให้เล่นกระบี่กระบองเป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในการทรงผนวชเป็นสามเณรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2409
ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการเล่นกระบี่กระบอง และชกมวยไทยหน้าพระที่นั่งในงานสมโภชอยู่เนือง ๆ  พระองค์เสด็จทอดพระเนตรและพระราชทานรางวัลแก่ผู้แสดงและแข่งขันบ่อย ๆ ฉะนั้นกระบี่กระบองจึงเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันมากในสมัยนั้น และในแต่ละปีอาจจะดูได้หลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นกีฬากระบี่กระบองเป็นที่นิยมมาก จึงทำให้กระบี่กระบองมีอยู่ดาษดื่น และมีมากคณะด้วยกัน
ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 6 ความครึกครื้นในการเล่นกระบี่กระบองลดน้อยลง เพราะไม่ทรงโปรดเท่ารัชกาลที่ 5 และต่อมา ในรัชกาลที่ 7 กีฬากระบี่กระบองค่อย ๆ หมดไปจนเกือบหาดูไม่ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าของโลกอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนทั่วไปมุ่งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น
ทั้งนี้ ท่านอาจารย์ นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่ได้เล่าเรียนวิชานี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเป็นผู้ที่รักใคร่ในศิลปะวิชานี้อยู่เสมอ จึงพยายามสงวนและเผยแพร่วิชากระบี่กระบองของไทยมากขึ้น ต่อมาเมื่อท่านโอกาสที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพลศึกษากลาง ท่านได้เริ่มลองสอนนักเรียนพลศึกษากลางเกี่ยวกับการเล่นกระบี่กระบองขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2478 หลังจากทดลองสอนอยู่ 1 ปี พบว่าได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจของท่านผู้ใหญ่ จึงได้กำหนดวิชากระบี่กระบองไว้ในหลักสูตรของประโยคครูผู้สอนพลศึกษา เมื่อ ปี พ.ศ.2479 นับแต่นั้นมาได้มีผู้เล่าเรียนและสำเร็จการศึกษามากขึ้นเป็นลำดับ

พรหมนั่ง

           

      จากท่านั่งเมื่อถวายบังคมเสร็จแล้ว หันหน้าไปทางซ้ายก้มตัวลงไหว้กระบี่ เอามือขวาจับกระบี่ มือซ้ายจีบไว้ที่หน้าอก 





          ยกกระบี่ขนานพื้น ข้ามศีรษะทางขวา กระบี่อยู่ทางขวาขนานพื้น โกร่งกระบี่หันออกนอกลำตัว หงายมือ ข้อศอกงอเป็นมุมฉากชิดลำตัว ตั้งเท้าขวาไว้ข้างหน้า นั่งบนส้นเท้าซ้าย ชักเท้าขวามานั่งคุกเข่า ตั้งเท้าซ้ายไว้ข้างหน้า นั่งบนส้นเท้าขวา


          โล้ตัวไปข้างหน้าโดยวางเข่าซ้ายลง ยกเท้าขวาขึ้น แล้วมือซ้ายรำหน้าระดับหน้าผาก หมุนตัวกลับหลังหันทางขวา โดยยกเข่าทั้งสองขึ้น พร้อมกับวาดกระบี่ไปทางซ้าย กระบี่ขนานพื้น วางเข่าซ้ายลง นั่งบนส้นเท้าซ้าย ตั้งเข่าขวาขึ้น กระบี่แนบลำตัวทางซ้ายมือซ้ายจีบอยู่ที่หน้าอก 




          มือซ้ายรำข้างระดับใบหู โดยให้แขนงอโค้งเล็กน้อย วาดกระบี่ขนานพื้นไปทางขวา มือซ้ายจีบที่หน้าอก ในขณะที่วาดกระบี่มาทางขวาสุดแล้วให้ดึงเข่าขวาวางบนพื้นและตั้งเข่าซ้ายขึ้น


                โล้ตัวไปข้างหน้าวางเข่าซ้ายลง ยกเท้าขวาขึ้น มือซ้ายรำหน้า หมุนตัวไปทางขวา ดึงมือซ้ายมาจีบไว้ที่อก วาดกระบี่ไปอยู่ทางซ้ายชิดลำตัวตั้งเข่าขวาบิดเข่าซ้ายไปทางขวาวางเข่าซ้ายลงนั่งบนส้นเท้าซ้าย มือซ้ายรำข้าง ดึงมือซ้ายมาจีบไว้ที่อก วาดกระบี่ไปทางขวากระบี่ขนานพื้น ดึงเข่าขวาวางไว้ที่พื้น ตั้งเข่าซ้ายขึ้น



              โล้ตัวไปข้างหน้า วางเข่าซ้ายลงบนพื้น ยกเท้าขวาขึ้น แล้วรำหน้าหมุนตัวกลับหลังหันทางขวา มือซ้ายจีบไว้ที่อก วาดกระบี่ไปทางซ้าย กระบี่ชิดลำตัว ลุกขึ้นยืนด้วยเท้าซ้าย ยกเข่าขวาขึ้นให้ขาขวารองรับศอกขวา



                มือซ้ายรำข้าง วาดกระบี่ไปข้างหน้าสองรอบ มือซ้ายจีบเข้าอก วางเท้าขวาเฉียงไปทางขวา โล้ตัวไปข้างหน้า เข่าขวางอ เข่าซ้ายตึง กระบี่อยู่ทางขวา อยู่ในท่าคุมรำ

พรหมยืน

ในท่าถวายบังคม วางกระบี่ให้ชี้ปลายไปข้างหน้า ห่างจากเข่า 1 คืบ

         จากท่านั่ง เมื่อถวายบังคมเสร็จแล้ว ก้มตัวลงข้างหน้า ไหว้กระบี่ มือขวาจับกระบี่ทัดหูให้โกร่งกระบี่อยู่ข้างบนปลายกระบี่ชี้ไปข้างหน้า มือซ้ายจีบอกพร้อมทั้งตั้งเข่าซ้าย จ้วงกระบี่ลงทางซ้ายพร้อมกับลุกขึ้นยืนด้วยเท้าซ้าย หันตัวไปทางขวาหนึ่งมุมฉาก ยกเข่าขวาขึ้นรับศอกขวา กระบี่เฉียงออก 45 องศา       

                
           มือซ้ายรำข้างแล้วจีบไว้ที่อก วางเท้าขวาลง ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า 1 ก้าว กระบี่ทัดหู โล้ตัวไปข้างหน้า ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้น วางเท้าซ้ายลง จ้วงกระบี่ลงทางซ้าย ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า 1 ก้าว พลิกระบี่ไปอยู่ข้างหน้า โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว กระบี่เฉียง 45 องศา


        
        ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้น มือซ้ายรำข้าง แล้วจีบไว้ที่อก วางเท้าขวาลงหมุนตัวกลับหลังหันทางซ้าย กระบี่ทัดหู ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้น

                

                      จ้วงกระบี่ลงทางซ้าย วางเท้าซ้ายลง แล้วก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าอีก 1 ก้าวพร้อมกับพลิกกระบี่ไปข้างหน้าเฉียง 45 องศา โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว เข่าขวางอ เข่าซ้ายตึง ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้น มือซ้ายรำข้าง วางเท้าขวาข้างเท้าซ้าย หมุนตัวไปทางซ้าย ยกกระบี่ขึ้นทัดหู โกร่งกระบี่หันขึ้นข้างบน มือซ้ายจีบที่อก โล้ตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอเข่าขวาตึง

               ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้นจ้วงกระบี่ลงข้างซ้าย วางเท้าซ้ายลง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า 1 ก้าว พลิกกระบี่ให้เฉียงขึ้นไปข้างหน้า 45 องศา หันโกร่งกระบี่เข้าหาตัวเข่าขวางอ เข่าซ้ายตึง ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้นมือซ้ายรำข้าง แล้วจีบไว้ที่อก วางเท้าขวาลงข้างหน้า แล้วหมุนตัวกลับหลังหันทางซ้ายยกกระบี่ขึ้นทัดหู โกร่งกระบี่อยู่ข้างบน โล้ตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอ เข่าขวาตึง


                ลากเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ยกเท้าซ้ายขึ้น จ้วงกระบี่ลงข้างซ้าย วางเท้าซ้ายลง ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า 1 ก้าว พลิกกระบี่ให้เฉียงขึ้นไปข้างหน้า 45 องศา หันโกร่งกระบี่เข้าหาตัว เข่าขวางอ เข่าซ้ายตึง ลากเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้น มือซ้ายรำข้าง แล้วจีบไว้ที่อกวางเท้าขวาลงข้างหน้า แล้วหมุนตัวกลับหลังหันทางซ้ายยกกระบี่ขึ้นทัดหู โกร่งกระบี่อยู่ข้างบนโล้ตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอ เข่าขวาตึง


                มือซ้ายรำข้าง แล้วจีบไว้ที่หน้าอก ควงกระบี่สองรอบ วางเท้าขวาเฉียงไปทางขวา กระบี่อยู่ข้างขวา แขนขวาชิดลำตัว ศอกเป็นมุมฉาก กระบี่ขนานพื้น โล้ตัวไปข้างหน้าอยู่ในท่าคุมรำ

ไม้รำ


           ท่าคุมรำ ยืนคุมรำ ยื่นเท้าขวานำเท้าซ้ายตาม มือซ้ายจีบอก มือขวาถือกระบี่ ปลายชี้ด้านหลังขนานพื้น (เป็นท่าเริ่มต้นของทุกไม้รำ)
   ไม้รำที่ 1 ลอยชาย    (สลับฟันปลา)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปขวา วางเท้าซ้ายลงหน้าเท้าขวาลักษณะทำกึ่งขวาหันโล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ลำตัวตรง รักษาระดับกระบี่ให้ขนานพื้น
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น แล้วใช้มือซ้ายรำหน้าให้ตัวนิ่ง
จังหวะที่ 4 หมุนตัวไปทางซ้าย 1 มุมฉากวางเท้าซ้ายลงพร้อมกับวางกระบี่ ให้กระบี่ขนานกับพื้นไปทางซ้ายของลำตัวระดับเอว ปลายกระชี่ชี้ไปข้างหน้า มือซ้ายจีบที่หน้าอก
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าขวาเลยเท้าซ้ายไปข้างหน้า
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้นพร้อมก้มเหยียดแขนซ้ายอกรำข้าง

   ไม้รำที่ 2 ควงทัด    (สลับฟันปลา)
จังหวะที่ 1 จะเริ่มจากท่าคุมรำให้ก้าวเท้าซ้ายเฉียงไปทางเท้าขวา วางเท้าซ้ายลงหน้าเท้าขวา ลักษณะกึ่งขวาหัน พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ ยกขึ้นทัดหู ปลายกระบี่ 45 องศา โล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า เข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดซ้ายช้า ๆ ลำตัวตรง (ทรงตัวให้นิ่ง)
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉากปลายเท้างอ ลำตัวตั้งตรง (ทรงตัวให้นิ่ง)
จังหวะที่ 4 หมุนตัวไปทางซ้ายเฉียงซ้ายลักษณะยกเท้าซ้าย พร้อมจ้องปลายกระบี่ลงข้างหน้าแล้วพลิกข้อมือหงายให้ปลายกระบี่ชี้เฉียงด้านหน้าประมาณ 45 องศา
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าชิดเท้าขวา ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉากต่อกับข้อศอกขวา ปลายเท้างอขึ้นพร้อมกับมือซ้ายรำข้าง

   ไม้รำที่ 3 เสือลากหาง    (เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว โล้ตัวไปข้างหน้าเข่าซ้าย งอเท้าขวาเหยียดตึง น้ำหนักตัวค่อนไปเท้าหน้า คือเท้าซ้าย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ทำช้า ๆ ลำตัวตรง หน้าตรง รักษาระดับกระบี่ให้ขนานพื้น
จังหวะที่ 3 ถ่ายน้ำหนักตัวลงที่เท้าขวา พร้อมกับยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ลำตัวตรง แล้วใช้มือซ้ายรำหน้า จังหวะที่ 4 ถ่ายน้ำหนักตัวไปข้างหน้าพร้อมกับวางเท้าซ้ายลงพื้น แล้วพลิกตัวทำกลับหลังหันเท้าทั้งสองเป็นจุดหมุน พร้อมกับโล้ตัวไปเท้าขวา พลิกปลายกระบี่ชี้ลงพื้น โกร่งกระบี่หันออก มือซ้ายจีบเข้ากลางหน้าอก
จังหวะที่ 5 ถ่ายน้ำหนักตัวไปเท้าซ้าย ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก หมุนตัวทางขวามือทำกลับหลังหัน โดยใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน ลดกระบี่ไว้ข้างเอว ทางซ้ายมือ
จังหวะที่ 6 วางเท้าขวาลงข้างหน้า แบมือซ้าย แตะกระบี่ที่อยู่ข้างเอว โล้ตัวไปเท้าขวา ลำตัวตรง เท้าซ้ายเหยียดตรง
จังหวะที่ 7 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ลักษณะย่อตัวเล็กน้อยเพื่อความสวยงาม ลำตัวตั้งตรงสายตามองตรงไปข้างหน้า กระบี่ขนานพื้น มือซ้ายยังคงแตะอยู่ที่กระบี่เอวซ้าย
จังหวะที่ 8 ยกเข่าขวาขึ้นให้ตั้งฉาก พร้อม ๆ กับมือซ้ายรำข้าง

   ไม้รำที่ 4 ตั้งศอก    (เฉียงสลับฟันปลา)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเฉียงทางขวา พร้อมกับควงกระบี่ลงข้างหน้า 2 รอบ และยกกระบี่ขึ้นทัดหูโล้ลำตัวไปข้างหน้า น้ำหนักลงที่เท้าซ้าย เข่าซ้ายงอเล็กน้อย เท้าขวาเหยียดตึง ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายช้า ๆ สายตามองที่ปลายกระบี่ ลำตัวตรง
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น พร้อมกับมือซ้ายตั้งศอก แบมือเรียงชิดติดกัน ให้ศอกตั้งบนเข่าซ้าย ปลายนิ้วแตะที่ตัวกระบี่ลำตัวตั้งตรง
จังหวะที่ 4 ค่อย ๆ หมุนตัวไปทางซ้าย เพื่อทำเฉียงซ้าย ลดมือซ้ายลงจีบที่กลางหน้าอก พลิกข้อมือขวาหงายขึ้นให้โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว พร้อมกับวางเท้าซ้ายลงพื้น
จังหวะที่ 5 ก้าวเท้าขวาเฉียงไปทางซ้าย วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย พร้อมกับโล้ตัวไปให้น้ำหนักลงที่เท้าขวา งอเข่าขวาเล็กน้อยลำตัวตั้งตรง
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ช้า ๆ เพื่อความสวยงาม ลำตัวตรง ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา สายตามองที่ปลายกระบี่
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งรองรับข้อศอกขวา ตัวตรงนิ่ง พร้อมกับใช้มือซ้ายรำข้าง

   ไม้รำที่ 5 จ้วงหน้าจ้วงหลัง    (เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายเดินตรงไปข้างหน้า พร้อมกับควงกระบี่ไปข้างหน้า 2 รอบ ยกขึ้นทัดหู วางเท้าซ้ายลงพื้นหน้าเท้าขวา โล้ตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยกระบี่ชี้ 45 องศา ลำตัวตรง
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายช้า ๆ สายตามองที่ปลายกระบี่ ลำตัวตรง
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ปลายเท้างอขึ้น จะต้องยืนให้มั่นคงนิ่งไว้ประมาณ 5 วินาที
จังหวะที่ 4 วางเท้าซ้ายลงข้างหน้าตรง ๆ โล้ตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซ้าย (เพื่อที่จะยกเท้าขวาก้าวต่อ)
จังหวะที่ 5 ขณะที่วางเท้าซ้ายลงข้างหน้าตรง ๆ ให้จ้วงกระบี่ลงข้างหน้าปลายกระบี่เฉียงไปข้างซ้ายลำตัว พร้อมกับจ้วงเท้าขวาไปข้างหน้าอีก 1 ก้าว เรียกว่า จ้วงหน้า
จังหวะที่ 6 วางเท้าขวาหน้า พร้อมกับพลิกข้อมือให้โกร่งกระบี่หันเข้าหาตัว ปลายกระบี่ชี้ขึ้น 45 องศา โล้ตัวไปข้างหน้าน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา
จังหวะที่ 7 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเข่าขวาขึ้นตั้งรองรับข้อศอกขวา ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา ลำตัวตรง มือซ้ายค่อย ๆ รำข้าง ประมาณ 5 วินาที จึงจีบเข้าไว้กลางหน้าอกเช่นเดิม
จังหวะที่ 8 วางเท้าขวาลงพื้นข้างหน้า พร้อมกับหมุนตัวไปทางซ้ายมือกลับหลังหัน ยกกระบี่ขึ้นทัดหูโล้ตัวไปข้างหน้า น้ำหนักตัวที่เท้าซ้ายเข่าซ้ายงอเล็กน้อย
จังหวะที่ 9 ยกเข่าซ้ายขึ้น พร้อมกับจ้วงกระบี่ลงข้างหน้า ถอยเท้าซ้ายไปวางหลังเท้าขวาพลิกข้อมือขวาหันโกร่งกระบี่เข้าหาตัวปลายกระบี่ชี้ขึ้น 45 องศา โล้น้ำหนักตัวไปเท้าขวาเล็กน้อย เรียกว่า จ้วงหลัง
จังหวะที่ 10 โล้ตัวกลับน้ำหนักตัวลงเท้าซ้ายพร้อมกับยกเข่าขวาขึ้นรองรับข้อศอกขวา ปลายกระบี่ชี้ 45 องศา ลำตัวตรงพร้อมกับมือซ้ายรำข้าง
ถ้าต้องการรำต่อให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับจังหวะที่ 1 ถึงจังหวะที่ 10 โดยหมุนตัวกลับหลังหันใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุนพร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย ลักษณะคุมรำ

   ไม้รำที่ 6 ปกหน้าปกหลัง    ( เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ควงกระบี่ไปข้างหน้า 2 รอบ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว วางเท้าซ้ายลงพื้นพร้อมกับเหยียดแขนซ้ายรำหน้า ปกกระบี่ลงให้ปลายกระบี่ชี้ลงพื้น 45 องศา วางโคนกระบี่พาดบนนิ้วก้อย หันโกร่งกระบี่ออกไปข้างหน้า โล้ตัวให้น้ำหนักตัวไปเท้าซ้าย เรียกว่า ปกหน้า
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ก้มหน้า สายตามองที่ปลายกระบี่ (ทำช้า ๆ เพื่อความสวยงาม)
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ลำตัวตรง
จังหวะที่4 วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้า เท้าขวาพร้อมกับพลิกตัวทำกลับหลังหัน ควงกระบี่ 2 รอบ มือว้ายจีบเข้ากลางอก เมื่อกลับหลังหันแล้วให้ปกกระบี่ลง เหยียดมือซ้ายออกรำหน้า รองรับกระบี่ ปลายกระบี่ชี้ลงพื้น 45 องศา ก้มหน้าเล็กน้อย ถ่ายน้ำหนักตัวไปเท้าขวา เรียกว่า ปกหลัง
จังหวะที่ 5 ยกเท้าขวาขึ้นตั้ง มือซ้ายจีบเข้ากลางอก หมุนตัวกลับหลังหัน โดยใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน เพื่อหันกลับมาเริ่มในจังหวะที่ 1 ต่อไป
ถ้าต้องการจะรำต่อให้เริ่มปฏิบัติตาม จังหวะที่ 1 ถึงจังหวะที 5

    ไม้รำที่ 7 ท่ายักษ์    ( เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้าวางเท้าซ้ายโดยหันลำตัวทางขวา คล้ายทำขวาหัน ยืนในท่ายักษ์ คือการย่อเข่าทั้งสอง น้ำหนักตัวลงตรงกลาง ลำตัวตรง หน้าตรง ตัวกระบี่ขึ้นตรงวางไว้หน้าขาขวา ปลายกระบี่พาดช่วงไหล่ขวา
จังหวะที่ 2 เมื่อลำตัวนิ่งในท่ายักษ์แล้ว ให้สลัดหน้าไปทางซ้าย แล้วสลัดหน้าไปทางขวา
จังหวะที่ 3 สลัดหน้าตรงพร้อมกับยกกระบี่ขึ้นฟังให้ตรงข้างหน้าทางขวา 1 ครั้งทางซ้าย 1 ครั้ง โดยฟันเป็นลักษณะกากบาท
จังหวะที่ 4 เมื่อยก กระบี่ขึ้นฟันข้างหน้า ขวา ซ้าย แล้วให้กลับอยู่ในท่ายักษ์
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาตั้งฉากใช้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุนพลิกตัวกลับหลังหัน เมื่อกลับหลังหันแล้วให้วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้ายตัวตรง หน้ามองตรงพร้อมกับยกเท้าซ้ายหมุนตัวกลับหลังหันอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เท้าขวาเป็นจุดหมุน จะกลับมาอยู่คล้ายจังหวะที่ 4 ลักษณะท่ายักษ์ เมื่อตัวนิ่งแล้ว ให้สลัดหน้าทางซ้าย 1 ครั้ง ทางขวา 1 ครั้ง และกลับมาสู่ท่ายักษ์

   ไม้รำที่ 8 สอยดาว    ( เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า เปลี่ยนวิธีจับกระบี่ใหม่ โดยใช้นิ้วชี้สอดขึ้นบนกระบี่ จับกระบี่ด้วยนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อย พร้อมกับปล่อยปลายกระบี่หมุนลงล่าง โดยใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางคีบกระบี่ ขณะที่ปล่อยปลายกระบี่หมุนลงล่าง จับกระบี่โดยหงายมือขึ้น โกร่งกระบี่หันออก วางเท้าซ้ายลงพื้นทำขวาหัน ลดมือซ้ายใช้ฝ่ามือแตะที่ตัวกระบี่ ปลายกระบี่ชี้ลงพื้นเล็กน้อย
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย ฝ่ามือซ้ายแตะที่กระบี่
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายตั้งฉาก ยกกระบี่ขึ้นเล็กน้อย ฝ่ามือซ้ายแตะกระบี่
จังหวะที่ 4 ก้าวซ้ายตรงไปข้างหน้า พร้อมกับจ้วงกระบี่และสอดกระบี่ขึ้นข้างบน เรียกว่า สอยดาวพร้อมกับก้าวเท้าขวาเดินอีก 1 ก้าว ทำกลับหลังหัน
จังหวะที่ 5 พลิกข้อมือกระบี่ตั้งขึ้นหันโกร่งกระบี่ออก งอเข่าทั้งสองข้างลำตัวตั้งตรง มือซ้ายจิ้มเข้ากลางหน้าอก
จังหวะที่ 6 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าหลัง
จังหวะที่ 7 ยกเข่าขวาตั้งฉาก เมื่อตัวนิ่งแล้วมือซ้ายเหยียดออกรำหน้า
จังหวะที่ 8 วางเท้าขวาลงพื้น พลิกข้อมือที่จับกระบี่หงายมือขึ้นแบฝ่ามือซ้ายหันฝ่ามือลง แตะปลายกระบี่ ถ่ายน้ำหนักตัวไปเข่าขวา ยกเข่าซ้ายตั้งฉากเพื่อเดินตรงไปข้างหน้า
จังหวะที่ 9 พลิกข้อมือหันโกร่งกระบี่ออกนอกลำตัว ปลายกระบี่ชี้ขึ้นข้างบนประมาณ 45 องศา มือซ้ายจีบเข้ากลางหน้าอก ย่อเข่าทั้งสองเล็กน้อย
จังหวะที่ 10 ยกเข่าขวาตั้งฉากให้ตัวนิ่งแล้วมือซ้ายรำหน้า
ถ้าต้องการรำต่อ หรือเข้าสู่ท่าคุมรำ ให้วางเท้าขวาลงบนพื้น ยกกระบี่ ขึ้นควง 2 รอบ อยู่ในท่าคุมรำ

   ไม้รำที่ 9 ควงแตะ    (เดินตรงไปข้างหน้า)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า วางเท้าซ้ายลงพร้อมกับทำขวาหัน ควงกระบี่ 2 รอบ เหยียดมือซ้ายรองรับปลายกระบี่ ที่ขนานกับพื้น หันโกร่งกระบี่ออกเรียกว่าควงแตะ งอเข่าทั้ง 2 เล็กน้อย ลำตัวตรง
จังหวะที่ 2 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก ใช้เท้าเป็นจุดหมุนกลับหลังหัน พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ วางเท้าขวา ลงพื้นในทิศทางตรงไปข้างหน้า เช่นเดียวกับจังหวะที่ 1 แต่หันหน้าตรงข้ามกัน
จังหวะที่ 3 ย่อเข่าทั้งสองเล็กน้อยลำตัวตั้งตรงกระบี่ขนานพื้น หน้ามองตรง
จังหวะที่ 4 ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ทำช้า ๆ ให้ลำตัวนิ่ง
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาตั้งฉาก
ถ้าต้องการรำต่อก็เริ่มต้นตั้งแต่จังหวะที่ 1 โดยการวางเท้าขวาลงพื้นและก้าวเท้าซ้ายหมุนตัวกลับหันหลัง พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ ควงแตะ

   ไม้รำที่ 10 หนุมานแหวกฟองน้ำ    (เดินตรงไปข้างหน้า, กลับหลังหัน, ขวาหัน)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า 1 ก้าว พร้อมกับควงกระบี่ 2 รอบ ยกขึ้นปก (แขนขวาแนบที่หูขวาคว่ำปลายกระบี่ชี้ลงพื้น 45 องศา โกร่งกระบี่หันออก โล้ตัวไปหน้าให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าซ้าย ก้มหน้าเล็กน้อย มือซ้ายเหยียดออกคล้ายรำหน้า นิ้วชิดติดกัน หันฝ่ามือออกให้โคนกระบี่วางที่กลางนิ้วก้อย)
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้าย พยายามย่อเข่าทั้ง 2 ลงเล็กน้อย เพื่อความสวยงาม
จังหวะที่ 3 ยกเข่าซ้ายขึ้นตั้งฉาก ให้ตัวนิ่งไว้ระยะหนึ่ง
จังหวะที่ 4 วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้าค่อย ๆ ยกปลายกระบี่ชี้ขึ้น มือทั้งสองทำท่าแหวก หรือท่าว่ายน้ำ ท่ากบ ซึ่งเรียกว่า แหวกฟองน้ำ ให้แขนทั้งสองเสมอไหล่ และขนานกับพื้น หันโกร่งกระบี่ออก ย่อเข่าซ้าย น้ำหนักตัวโล้ไปเท้าซ้าย
จังหวะที่ 5 วางเท้าซ้ายลงพื้นข้างหน้าพลิกตัวกลับหลังหันโดยหมุนตัวทางขวา รวมทั้งแขนทั้งสองมาป้องข้างหน้า โดยแบมือซ้ายหันฝ่ามือลงพื้นให้กระบี่ตั้งขึ้นอยู่ในง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้งอข้อศอกทั้งสองยกขึ้นขนานกับพื้นอยู่เหนือสายตา
จังหวะที่ 6 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก
จังหวะที่ 7 ใช้เท้าซ้ายเป็นหลัก หมุนตัวไปทางขวา (ทำขวาหัน) พร้อมกับวางเท้าขวาลงข้างหน้า ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา ยกเท้าขวาขึ้นตั้งฉาก

   ไม้รำที่ 11 ลดล่อ    (เดินตรงไปข้างหน้าโดยการพลิกตัวขวา ซ้าย)
จังหวะที่ 1 จากท่าคุมรำลดกระบี่ลง แขนงอเล็กน้อย กระบี่ขนานพื้น มือซ้ายกำหลวม ๆ ยกแขนขึ้นระดับหน้าผาก หันหน้ามองลอดแขนไปทางปลายกระบี่ ย่อตัวให้น้ำหนักตัวลงที่เท้าขวา ลักษณะนี้เรียกวา ลดจังหวะที่ 2 ก้าวเท้าซ้ายตรงไปข้างหน้า 1 ก้าว ยกเท้าขวาหมุนตัวกลับหลังหัน โดยหมุนตัวทางขวามือ วางเท้าขวาหน้าเท้าซ้าย มือซ้ายกำหลวม ๆ ลดลงระหว่าหน้าขาซ้ายงอข้อศอกเล็กน้อยยกกระบี่ขึ้นแขนงระดับหน้าผาก ก้มหน้า หันหน้ามองปลายกระบี่เสมอ โล้ตัวไปข้างหน้า น้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าขวา ลักษณะนี้เรียกว่า ล่อ” (จบไม้รำที่ 11 ลดล่อ) ถ้าต้องการรำต่อ ให้ก้าวเท้าซ้ายสอดไปหลังเท้าขวา และวางเท้าขวาข้างหน้าเท้าซ้าย พร้อมกับพลิกตัวกลับหลังทางซ้ายมือ กลับอยู่ท่าคุมรำ หรือทำจังหวะที่ 1 ต่อไป

   ไม้รำที่ 12 เชิญเทียน    (เดินสลับฟันปลาเฉียงขวา เฉียงซ้าย)
จังหวะที่ 1 ก้าวเท้าซ้ายไปทางขวากึ่งขวาหัน ตั้งกระบี่ขึ้นเอามือซ้ายไปรองด้ามกระบี่ โดยแบมือขึ้น โล้น้ำหนักตัวไปข้างหน้า
จังหวะที่ 2 ก้าวเท้าขวาชิดเท้าซ้ายทำช้า ๆ
จังหวะที่ 3 ยกเท้าซ้ายขึ้นให้เข่าตั้งฉาก ลำตัวตรง
จังหวะที่ 4 ให้เท้าซ้ายเป็นจุดหมุน หมุนตัวไปเฉียงซ้าย พร้อมกับวางเท้าซ้ายลงกึ่งซ้ายหันโล้น้ำหนักตัวไปเท้าหน้า คือเท้าซ้าย ลำตัวตรงนิ่งไว้ระยะหนึ่ง จึงก้าวเท้าขวาเดิน 1 ก้าว วางเท้าขวาลงหน้าเท้าซ้าย ก้าวเท้าซ้ายชิดเท้าขวา
จังหวะที่ 5 ยกเข่าขวาขึ้นตั้งฉาก มือว้ายรำโดยการพลิกให้ฝ่ามือหันออก หลังมืออยู่หน้าโกร่งกระบี่

ถ้าต้องการรำต่อ ก็ให้หมุนตัวเฉียงมาทางขวามือ และปฏิบัติเช่นเดียวกับจังหวะที่ หรือควงกระบี่ 2 รอบ อยู่ในท่าคุมรำ